อาหารสุขภาพต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet) แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) เป็นเชื้อราประเภทยีสต์ที่พบได้ตามปกติในระบบทางเดินอาหารและช่องคลอด ระดับของแคนดิดาจะถูกควบคุมด้วยระบบภูมิคุ้มกันและโพรไบโอติกแบคทีเรีย (จุลชีพไม่ก่อโรคที่เป็นประโยชน์) ในร่างกาย
หากโพรไบโอติกแบคทีเรียถูกกำจัดโดยยาปฏิชีวนะ หรือหากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ยีสต์แคนดิดาจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไร้การควบคุม
การติดเชื้อเฉพาะที่ เช่น เชื้อราในช่องปาก การติดเชื้อราที่ผิวหนัง และในช่องคลอด อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนประสิทธิภาพอย่างมาก เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือเอดส์ และอาจเกิดการติดเชื้อแคนดิดาชนิดแพร่กระจายได้
การติดเชื้อซึ่งเป็นภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรงคือ "การติดเชื้อแคนดิดาในกระแสเลือด (systemic candidiasis)"
ภาวะเชื้อราในลำไส้
แพทย์แผนทางเลือกบางท่านเชื่อว่า การเพิ่มจำนวนอย่างไร้การควบคุมของยีสต์ Candida albicans ในลำไส้ จะทำให้เกิดภาวะเชื้อราในลำไส้ (yeast syndrome) ขึ้น
ภาวะเชื้อราในลำไส้จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เยื่อบุไซนัสบวม ซึมเศร้า ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ และอยากของหวาน
ยีสต์แคนดิดาที่มากเกินไปในลำไส้อาจผ่านออกมาจากผนังลำไส้ ทำให้เกิดการดูดซึมสารที่ร่างกายไม่ต้องการ รวมทั้งดูดซึมยีสต์เข้าสู่ร่างกาย เชื่อกันว่า เศษชิ้นส่วนของยีสต์ที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิด "ภาวะภูมิไวเกิน (allergic hypersensitivity)" ต่อแคนดิดา
Yeast syndrome เป็นที่รู้จักแพร่หลายโดยนายแพทย์วิลเลียม ครูก (William Crook) จากหนังสือ The yeast connection ของเขาใน ค.ศ. 1983 และยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก แพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่เชื่อว่า กลุ่มอาการนี้ถูกวินิจฉัยมากเกินไปจากผู้ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและไม่เห็นด้วยกับความเที่ยงตรงของการวินิจฉัย
ปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดภาวะเชื้อราในลำไส้
การใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน สเตียรอยด์ ยาลดกรด
การใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยครั้ง หรือใช้เป็นเวลานาน
การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง
การตั้งครรภ์
การสูบบุหรี่
ภาวะแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝง หรือการรับอาหารไม่ได้ (food intolerance)
เบาหวาน
อาหารต้านแคนดิดา
แพทย์แผนทางเลือกบางรายใช้ "อาหาร" เพื่อจำกัดการเพิ่มจำนวนที่มากเกินไปของยีสต์แคนดิดา ดังเช่นที่นายแพทย์วิลเลียม ครูก แนะนำให้ผู้ที่มีการเจริญของยีสต์แคนดิดามากเกินไปรับประทานอาหารตามแนวทาง ดังนี้
หลีกเลี่ยงน้ำตาล ตามแนวคิดนายแพทย์ครูก น้ำตาลจะช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของยีสต์ จึงควรจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในแต่ละวัน ตัวอย่างเช่น ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่เริ่มรับประทานอาหารนี้ ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับต่อวันจะถูกจำกัดให้น้อยกว่า 60 กรัมต่อวัน ขึ้นกับอายุ สุขภาพ ระดับกิจกรรม และระดับของความไวต่ออาหาร เน้นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น เนื้อแดง เนื้อไก่ ไก่งวง ผักที่มีแป้งน้อย และถั่วเปลือกแข็ง (nuts) บางชนิดแทน เมื่ออาการดีขึ้นก็จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหาร
หลีกเลี่ยงอาหารที่มียีสต์ไม่ว่าชนิดใดก็ตามรวมถึงอาหารผ่านการหมักบ่ม เช่น ขนมปังที่ใช้ยีสต์ เนยแข็ง ซอสมะเขือเทศเข้มข้น เห็ด และเบียร์ โดยถึงแม้นายแพทย์ครูกจะเชื่อว่า ผู้ที่มีการเจริญของยีสต์แคนดิดามากเกินไปอาจจะแพ้เชื้อราประเภทอื่นๆ ด้วย แต่ไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่เห็นว่า การจำกัดควบคุมดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น
ระยะเวลาที่ต้องรับประทานอาหารต้านแคนดิดาขึ้นกับระยะเวลาที่มีอาการและความรุนแรงของอาการ ทั้งนี้ระดับสุขภาพโดยทั่วไปก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับแพทย์ทางเลือกเมื่อจะวางแผนการรักษา
ผู้ที่ตอบสนองต่อการรับประทานอาหารชนิดนี้มักรายงานว่า ใช้เวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ก่อนจะมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นที่สังเกตได้ สำหรับหลายๆ คน อาจใช้เวลานานหลายเดือน เมื่ออาการดีขึ้นมากพอแพทย์จะแนะนำให้ค่อยๆ เริ่มอาหารที่เคยต้องจำกัดใหม่อีกครั้ง
สมุนไพรและอาหารเสริม
อีกองค์ประกอบสำคัญในแนวทางของนายแพทย์ครูกคือ การใช้สมุนไพรและอาหารเสริม หรือในบางกรณีก็จะเป็นการจ่ายยาเพื่อลดปริมาณของยีสต์แคนดิดาในร่างกาย
แพทย์ทางเลือกมักแนะนำให้เริ่มสมุนไพรและอาหารเสริมด้วยปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้น มิเช่นนั้น อาจมีอาการแย่ลงชั่วคราว เรียกว่า "ปฏิกิริยา Herxheimer" หรือ "ภาวะที่ยีสต์ตาย" เกิดขึ้น
เชื่อว่า ปฏิกิริยานี้เกิดจากเมื่อยีสต์แคนดิดาตายจะปล่อยเศษชิ้นส่วนโปรตีนและสารพิษที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายออกมา
อาหารสุขภาพต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://thetastefood.com/